วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาของ สพท สน 2

แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปีการศึกษา 2522
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 2

1. บทนำ
1.1 กรอบแนวคิด
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ถือว่าเป็นหัวใจของการทำงานเพื่อรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะข้าราชการ หากพิจารณาแล้วมีความหมายที่ลึกซึ้งนัก กล่าวคือ
เข้าใจ หมายถึง ความเข้าใจแจ่มชัดในประเด็น จุดมุ่งหมาย ทิศทางของงานที่ทำ
เข้าถึง หมายถึง การเข้าถึงปัจจัย เช่น องค์ความรู้ หลักคิดทฤษฎี แนวทาง ทรัพยากรการบริหารต่าง ๆ ของงานที่กำลังทำ
พัฒนา หมายถึง การลงมือกระทำ และหาทางต่อยอดองค์ความรู้เดิมให้ดีขึ้น สิ่งที่ต่อยอดนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) เกิดวิธีคิดใหม่ (Paradigm) ที่เป็นของตน ส่วนนี้ ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่จะเปิดทางให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และต่อยอด
ถือว่าเป็นทฤษฎีการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่มีคุณค่ายิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริการจัดการศึกษาในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติคือครู

กรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 2 ปีการศึกษา 2552 มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามแนวทางการส่งเสริมคุณภาพห้องเรียน (Quality Classroom) โดยแนวทาง “ก้าวสู่ห้องเรียนคุณภาพ” ในสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อเป็นหลักประกับความเสี่ยงและเพื่อการยกระดับมาตรฐานการศึกษาโดยรวม และส่งให้ “ผู้เรียนมีคุณภาพ” ต่อไป

1.2 ห้องเรียนคุณภาพ คืออะไร
ห้องเรียนคุณภาพ ที่ สพฐ.กำหนด เป็นแนวทางสำหรับครูโดยตรง ที่จะเป็นผู้จัดการเรียนรู้ที่เน้นคุณภาพให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างแท้จริง ภายใต้แนวทาง มี 5 ประการ คือ
1) นำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียนคุณภาพ
2) ออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน
3) การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research- CAR)
4) การใช้ ICT เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน
5) การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline)

หากครูสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ย่อมจะเป็นคุณูปการแก่ผู้เรียน ตนเอง และโรงเรียนเป็นอย่างมาก การใช้แนวพระราชดำรัสของในหลวง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาทบทวนในแต่ละข้อ ก็จะส่งผลให้งานสอนของครูมีคุณค่าที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

2. แนวคิดการส่งเสริมห้องเรียนคุณภาพในสถานศึกษา
2.1 หลักแนวคิด

2.1.1 เป้าหมายสูงสุดของการจัดการ (Ultimate Goal) คือ “ผู้เรียนมีคุณภาพ”
2.1.2 มีเป้าหมายให้เกิด “ห้องเรียนคุณภาพ” ในสถานศึกษาทุกแห่ง
2.1.3 เป็นหลักประกันความเสี่ยงให้แก่ “เด็กทุกคน” ในการได้รับโอกาสจากการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและความเท่าเทียมอย่างทั่วถึงทุกชั้นทุกห้องเรียน
2.1.4 ใช้หลักความเชื่อมั่นในศักยภาพทรัพยากรที่มีอยู่ ของบุคลากรครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียน การบริหารและการจัดการ โดยสถานศึกษาทั้งหมดมีความพร้อมในด้านต้นทุนการผลิต ด้านงบประมาณจากรัฐที่มีอย่างทั่วถึง มีบุคคลที่มีความพร้อมทั้งทางคุณวุฒิ วิทยฐานะและอื่น ๆ ตลอดจนโรงเรียนของรัฐก็ได้ผ่านการกระบวนการพัฒนาและการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึงแล้ว


2.2 ผู้มีบทบาทสำคัญในยกระดับการศึกษา
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ก็คือ 1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนครเขต 2 โดยบุคลากรทุกคน และ 2) สถานศึกษา ซึ่งหมายถึง ครูและบุคลากรในสถานศึกษาทุกแห่ง

2.2.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

เป็นองค์กรหลักในการควบคุมดูแล กำกับ ส่งเสริมการบริหารจัดการของสถานศึกษาโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับงานวิชาการ การพัฒนาหลักสูตร ตลอดจนคุณภาพการศึกษา มีทรัพยากรบุคคล 3 กลุ่ม คือ


1) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและมีรองผู้อำนวยการทุกคน มีบทบาทในการวางแผนการขับเคลื่อนการส่งเสริมห้องเรียนคุณภาพดำเนินไปอย่างมีระบบ คือ การกำหนดแผน ปฏิทินการศึกษาประจำปีของเขตเพื่อเป็นแผนที่เดินทาง (Road Map) และกำหนดเป้าหมายห้องเรียนคุณภาพที่ชัดเจนไว้เป็นแนวทาง ในปัจจุบันได้จัดให้มีกลุ่มเครือข่ายสถานศึกษาโดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงานรับผิดชอบแต่ละเครือข่ายแล้ว จึงมีโอกาสในการดูแลสถานศึกษาได้อย่างทั่วถึง เพื่อการออกตรวจ ติดตาม และกำกับการส่งเสริมและกำกับติดตามการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดห้องเรียนคุณภาพต่อไป


2) กลุ่มในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประกอบด้วยหัวหน้ากลุ่มและคณะเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มงานต่าง ๆ มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานแผนและโครงการของกลุ่มลงสู่สถานศึกษา โดยมีกลุ่มนโยบายและแผนเป็นเจ้าภาพในการควบคุมแผน จัดทำปฏิทินการทำงานและและกำหนดเป้าหมายให้ทุกกลุ่มเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดทำศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ หรือ War Room เพื่อการกำกับติดตามสู่เป้าหมายทุกขั้นตอนเป็นระบบยิ่งขึ้น
ภารงานของกลุ่มต่าง ๆ จะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั่วไป เช่น การสนับสนุนส่งเสริมปัจจัย กิจกรรมของสถานศึกษา ทุนการศึกษา กิจกรรมนักเรียน เป็นต้น แม้ไม่อาจลงลึกไปถึงห้องเรียน แต่ก็ถือว่าได้อยู่ในระบบการส่งเสริมห้องเรียนคุณภาพด้วย


3) ศึกษานิเทศก์
เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากในการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพห้องเรียน ซึ่งต้องมีศักยภาพ ความเป็นผู้นำทางวิชาการ มีทักษะตลอดจนองค์ความรู้วิชาชีพครูอื่น ๆ เป็นเพื่อนคู่คิดของครู เป็นกัลยาณมิตรพาทำ แนะนำการพัฒนาคุณภาพในห้องเรียนตามหลักและแนวทางที่ถูกต้องอย่างทั่วถึง


ปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมและสร้างคุณภาพห้องเรียนระดับเขตพื้นที่


1) การมีปฏิทินหลัก (Area Agenda) เรียกว่า “ปฏิทินการศึกษา ระดับเขต ประจำปีการศึกษา...” ซึ่งควรดำเนินการก่อนเริ่มปีการศึกษา ให้เห็นทางเดินไปสู่เป้าหมายระดับเขตพื้นที่ได้อย่างชัดเจน เช่น กำหนดวันเปิดและปิดภาคเรียน กำหนดห้วงเวลาสำหรับกิจกรรมสำคัญของโรงเรียนและสำนักงานเขต การจัดการศึกษา เพื่อให้กลุ่มบริหารและโรงเรียนได้ใช้เป็นแนวทาง
2) แผนงานและโครงการของกลุ่ม จะต้องจัดให้เน้นการสนองกลยุทธ์และเพื่อคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ละแผนงานโครงการควรแสวงหาการมีส่วนร่วมแสดงประสิทธิภาพของทีมงาน ที่เป็นแบบอย่าง มีความสอดคล้องสัมพันธ์เป็นทีมของเขตพื้นที่ มีการวิเคราะห์โครงการและสรุปผลการศึกษาเป็นองค์ความรู้เชิงวิจัยและสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
3) การพัฒนาระบบ และเครื่องมือการตรวจติดตาม การกำกับ การนิเทศสถานศึกษาของ สพท. ของบุคลากรทั้ง 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เนื่องจากการตรวจติดตามการบริหารจัดการศึกษายังขาดทิศทางที่ชัดเจน และมีการติดตามสรุปผลความก้าวหน้าเป็นระยะรายเดือน และรายภาคเรียน / ปีการศึกษา
4) มีการพัฒนาศักยภาพ ทักษะและประสบการณ์ให้กับบุคลากรทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ การสร้างทีมงาน การปฏิบัติการตามแนวทางการจัดการความรู้ การพัฒนาทักษะวิชาการ ภาวะผู้นำและการบริหารจัดการที่ต่อเนื่อง

2.2.2 สถานศึกษา

การส่งเสริมห้องเรียนคุณภาพ มีสิ่งที่เกี่ยวข้องสำคัญ คือ หลักสูตรสถานศึกษาซึ่งถือว่าเป็นพิมพ์เขียวในการจัดการศึกษาของโรงเรียนและบุคลากรซึ่งเป็นผู้ใช้พิมพ์เขียวให้เกิดประสิทธิภาพ บุคลากรในสถานศึกษามี 2 คน คือ 1) ผู้บริหาร ฐานะผู้บริหารจัดการหลักสูตร (Curriculum Manager) และ 2) ครู ในฐานะผู้บริหารรายวิชาหรือบริหารชั้นเรียน (Course / Class Manager) ทั้งสองมีหน้าที่เหมือนกันคือ “นักบริหารจัดการ” แต่จะแตกต่างกันที่เนื้อหาเท่านั้น คือ
1) ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารโรงเรียน (Principal) ในฐานะผู้บริหารจัดการหลักสูตร (Curriculum Manager) ผู้มีแขนข้างหนึ่งอุ้มหลักสูตรและอีกข้างอุ้มนักเรียน เป็นผู้คุมความสำเร็จและความล้มเหลวของโรงเรียน มีบทบาทสำคัญ 3 ประการ "เดืน 3 ก้าว" คือ

1) การสร้างหลักสูตรสถานศึกษา

2) การใช้หลักสูตรสถานศึกษา และ

3) การประเมินหลักสูตรสถานศึกษา ดังนี้


(1) การสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
ผู้บริหาร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในจัดหาและสร้างหลักสูตรสถานศึกษา จากการศึกษาวิเคราะห์สภาพบริบทต่าง ๆ อย่างครบถ้วน การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน การกำหนดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้กลุ่มสาระหรือคำอธิบายรายวิชา (Course Description) การวัดและประเมินผลหลักสูตร ตลอดจนการอนุมัติการใช้และประชาสัมพันธ์หลักสูตรสถานศึกษาแก่สาธารณชน


(2) การใช้หลักสูตรสถานศึกษา
เป็นการนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ คือ
1. การมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบแก่ครู ในการเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบรายวิชาหรือชั้นเรียนตามหลักสูตรอย่างครบถ้วน เพื่อจะได้วางแผนการบริหารจัดการต่อไป
2. การกำหนดข้อตกลงร่วมกันของโรงเรียน ได้แก่ เงื่อนไข นโยบาย ปฏิทินการทำงาน (School Agenda) เทคนิคการบริหารจัดการ การรูปแบบการทำงาน กำหนดส่งงานและข้อตกลง ที่จะนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การจัดระบบนิเทศภายใน เพื่อกำกับ ดูแล สร้างเสริม พัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการรายวิชาของครูสู่การพัฒนาห้องเรียนคุณภาพได้ โดยกำหนดให้มีผู้นิเทศ และผู้รับการนิเทศอย่างชัดเจน

(3) ประเมินหลักสูตรสถานศึกษา
การประเมินหลักสูตร เป็นการสรุปรายงานผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษาเมื่อสิ้นปีการศึกษา โดยมีการวิเคราะห์ผลสำเร็จและความล้มเหลวของการใช้หลักสูตรสถานศึกษาในรอบปี ซึ่งควรดำเนินการเมื่อสิ้นภาคเรียนที่ 2 สิ้นเดือนมีนาคม ควรดำเนินการ ดังนี้
1. ครูได้มีการสรุปผลการจัดการเรียนรู้ตามรายสาระวิชาที่ได้รับมอบหมาย และจัดทำรายงานอย่างมีแบบแผน เช่น การายงานเชิงการศึกษาวิจัย 5 บท เพื่อสรุปสภาพผลการใช้หลักสูตร ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อเสนอแนะ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้น
2. โรงเรียนได้สรุปผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ที่ได้จากการรายงานตามสาระวิชาของครูแต่ละคน นำสู่การพัฒนาและเผยแพร่ เป็นรายงานเชิงการศึกษาวิจัย เช่นเดียวกันแต่เป็นการวิจัยหลักสูตรสถานศึกษา
3. นำข้อเด่นและข้อจำกัด มาปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาใหม่ เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและประกาศใช้ในปีการศึกษาใหม่ในเดือนพฤษภาคม เป็นการต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้จากหลักสูตรเดิมสู่รอบปีการศึกษาใหม่ (Spiral) ต่อไปอย่างมีระบบ

การวางแผนการจัดทำ การใช้และการประเมินหลักสูตร จึงเป็นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่โรงเรียนคุณภาพ ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลว

2) ครู
ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะพบครูปฏิบัติหน้าที่ 2 ลักษณะ คือ
(1) ครูประจำวิชา (Course Manager) และ
(2) ครูประจำชั้น (Class Manager)
ทั้งสองลักษณะย่อมมีธรรมชาติในการทำงานที่แตกต่างกันในรายละเอียด มีความเชี่ยวชาญไปตามภารกิจที่ต้องปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม ครูจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ย่อมต้องมีกระบวนการทำงานที่แสดงให้เห็นเส้นทางเดินที่เหมือนกัน ทางเดินของครูจึงต้องมีจังหวะก้าวเดินที่มีแบบแผน มีคุณค่า และมีคุณภาพ “สู่ห้องเรียนคุณภาพ” จะต้อง "เดิน 4 ก้าว" คือ

ก้าวที่ 1 กำหนดหน่วยการเรียนรู้สาระรายวิชา (Course Syllabus)
ก้าวที่ 2 วางแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan)
ก้าวที่ 3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
ก้าวที่ 4 การประเมินการสอนรายวิชา
ดังนี้

ก้าวที่ 1 กำหนดหน่วยการเรียนรู้สาระรายวิชา (Course Syllabus)
บอกความสามารถในการเป็นนักวางแผนชั้นครู


การกำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) เป็นงานวางแผน ครูถือว่าเป็นนักบริหารจัดการ (Manager) ที่ต้องลงมือวางแผนต่อบริบทที่มีอยู่ด้วยตนเอง คือ หลักสูตร(คำอธิบายรายวิชา) ผู้เรียน วิถีชีวิตท้องถิ่น สภาพทางสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนทรัพยากรการบริหารอื่น ๆ ซึ่งต้องดำเนินการเมื่อได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบรายวิชาแล้ว โดยดำเนินการให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อจะได้ใช้เป็นแผนที่เดินทาง (Road Map) ตลอดปีการศึกษา
หลักสูตรในสถานศึกษาทั่วไป ประกอบด้วยกลุ่มสาระต่าง ๆ และแต่ละสาระวิชาจะมี “คำอธิบายรายวิชา” (Course Description) คือ การพรรณนาขอบข่ายสาระของวิชานั้นตามมาตรฐานเอาไว้ ดังนั้น “หลักสูตร” ก็คือ “อธิบายรายวิชา” นั่นเอง ที่ครูจะบริหารจัดการต่อไปด้วยตนเอง


องค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้โดยทั่วไป ได้แก่
1. รายละเอียดสาระวิชา ได้แก่ ชื่อโรงเรียน ชื่อสาระ รหัส หน่วยการเรียน
2. รายละเอียดครูประจำวิชา ได้แก่ ชื่อผู้สอน ห้องทำงาน เมล์และหมายเลขเพื่อการติดต่อ
3. คำอธิบายรายวิชา คือ คำพรรณนารายวิชาที่ปรากฏในหลักสูตรของโรงเรียน จะต้องนำมาให้ครบถ้วน
4. จุดมุ่งหมาย(วัตถุประสงค์) ครูต้องนำหลักสูตรรายวิชามากำหนดวัตถุประสงค์ ด้วยตนเอง ตามแนวทางของ Benjamin S. Bloom คือ ด้านความรู้ (Cognitive Domain) ด้านเจตคติ (Affective Domain) และ ด้านทักษะ (Psychomotor Domain)
5. เนื้อหาสาระ จำนวนสัปดาห์หรือชั่วโมงที่ต้องใช้ เป็นการนำคำอธิบายรายวิชามากำหนดเป็นหมวดหมู่เนื้อหา จัดเป็นรายคาบและสัปดาห์ ระดับประถมศึกษา จำนวน 40 สัปดาห์ และระดับมัธยมศึกษา จำนวน 20 - 40 สัปดาห์ ควรจัดคาบที่หรือสัปดาห์แรก เพื่อการนำเข้าสู่บทเรียนและกำหนดเงื่อนไขข้อตกลงของครู คาบเพื่อการทดสอบกลางภาคและปลายภาคไว้ด้วย
การจัดกำหนดการ ควรจัดตามปฏิทินของโรงเรียนและเขต โดยมีวันทำการและวันหยุดที่ครบถ้วนและเป็นจริง ที่เว้นวันหยุดต่าง ๆ วันสำคัญทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่น และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นต้น
6. กิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการนำเสนอกิจกรรมที่จะใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้และควรหลากหลาย เช่น โครงงาน การศึกษาดูงาน การจัดนิทรรศการ
7. สื่อ เสนอสื่อที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เอกสารประกอบการสอน(นวัตกรรม)ที่ครูทำขึ้นประจำรายวิชา
8. หนังสือคู่มือต่าง ๆ ได้แก่หนังสืออ้างอิง ตำราที่ครูใช้เป็นหลักของการศึกษาหาความรู้ และคู่มือครู
9. การวัดและประเมินผล แสดงคะแนนและระดับการตัดสินผลการเรียนที่อ้างอิงจากแนวปฏิบัติของสถานศึกษา

แนวทางการจัดวางแผนหน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
1) ครูประจำชั้น (Class Manager)
ครูประจำชั้น คือครูที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนทั้งชั้น พบในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ บทบาทครูจะมีความพิเศษที่ต้องทำการสอนทุกสาระ ครูจึงอยู่ในบทบาทผู้บริหารชั้นเรียน (Class Manager) ครูไม่อาจจะมุ่งเพียงสาระใดสาระหนึ่งได้ การวางแผนจัดหน่วยการเรียนรู้ ควรดำเนินการคือ
(1) นำคำอธิบายรายวิชาทุกทุกสาระวิชามาอย่างครบถ้วน
(2) กำหนดเนื้อหาเป็นรายคาบหรือสัปดาห์ให้เป็นแบบบูรณาการ จากทุกสาระให้เหมาะสมกับห้วงเวลา โดยใช้เวลาตลอดทั้งปีการศึกษา ประมาณ 200-230 วัน หรือ 40 สัปดาห์
นอกจากนี้ ครูที่ต้องทำหน้าที่สอนคละชั้น เช่น ประถมศึกษาปีที่ 1-2 หรือ 1-2-3 หรือ อื่น ๆ ก็ย่อมจะต้องวางแผนตามเนื้อหาหลักสูตรที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมากจากผู้บริหารโรงเรียน
ครูผู้รับผิดชอบเป็นครูประจำชั้น จึงมีรูปแบบในการจัดการเรียนรู้ที่ซับซ้อน ต้องมีความชำนาญในการบูรณาการสาระการเรียนรู้เข้าด้วยกัน ต้องพัฒนาทักษะในการเชื่อมโยงแนวคิด (Mind Map) ในการบริหารจัดการ

2) ครูประจำวิชา (Course Manager)
ครูประจำวิชา คือการที่ครูที่รับผิดชอบในรายวิชาใดวิชาหนึ่งเท่านั้น มีความซับซ้อนน้อยกว่าครูประจำชั้น จะพบในระดับมัธยมศึกษา หรือโรงเรียนประถมศึกษาที่มีครูจำนวนมากเพียงพอ ครูจะอยู่ในฐานะผู้บริหารจัดการรายวิชา (Course Manager) การจัดหน่วยการเรียนรู้เป็นไปตามธรรมชาติของรายวิชา ซึ่งไม่อาจเน้นแนวบูรณาการได้ ครูรับผิดชอบจึงทำงานแบบอิสระ สามารถแจกแจงเนื้อหาได้เป็นรายชั่วโมงหรือรายคาบได้เป็นอย่างดี เจาะจงและสร้างความชำนาญเฉพาะด้านให้เกิดขึ้นกับนักเรียนในแนวลึกได้

การกำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) จึงเป็นก้าวแรกทีมีความสำคัญอย่างยิ่งของความเป็นครู เป็นการแสดงความเป็น “นักวางแผนชั้นยอด” ของครู จะเห็นแนวคิด องค์ความรู้ ความสามารถ ศักยภาพและสมรรถนะที่มีอยู่ในตัวครูได้อย่างชัดเจน ผู้บริหารจะเห็นศักยภาพ บุคลิกภาพและเจตคติที่มีอยู่ในตัวครูอย่างชัดเจน สร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี
หน่วยการเรียนรู้ถือเป็นเสมือนเค้าโครงการวิจัยหลักสูตรหรือวิจัยชั้นเรียน ซึ่งเป็นรูปแบบของการวิจัยเชิงทดลอง เป็นงานวิจัยที่คู่กับชีวิตการทำงานของครู จึงน่าจะถือเป็นก้าวแรกที่งดงามของครู ที่ผู้บริหารโรงเรียนจะใช้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับอนุญาตจากผู้บริหารสถานศึกษาที่จะให้เข้าทำการสอนในชั้นเรียนได้

ก้าวที่ 2 วางแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan)
บอกความเป็นนักออกแบบชั้นครู


เป็นขั้นของการเดินใช้กำหนดการสอน (Syllabus) ตามที่กำหนด เป็นการนำเนื้อหาที่กำหนดไว้มาวางแผนการจัดการเรียนการสอนรายเนื้อหาทีละบทเรียน (Lesson Plan) แผนการจัดการเรียนรู้ทีมีประสิทธิภาพควรทำเป็นแผนสด โดยออกแบบเพื่อการจัดการเรียนรู้ล่วงหน้าและเพื่อใช้แต่ละครั้งเท่านั้น คือออกแบบวันนี้เพื่อการสอนในสัปดาห์หน้าเสมอ ตามหลัก “จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร”
รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้ อย่างน้อยสิ่งที่จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนคือ
1) สาระการเรียนรู้ตามมาตรฐานรายวิชา ที่ชัดเจน
2) วัตถุประสงค์ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระ โดยยึดแนวทางของบลูม
3) กิจกรรมการเรียนรู้ การจัดทำรายละเอียดกิจกรรมมากเท่าใดยิ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานของครูมากเท่านั้น และจะเป็นประโยชน์มากหากมีการจัดสอนแทน กิจกรรมที่กำหนดคือการออกแบบที่ครูต้องออกแบบด้วยมือตนเองจะเป็นแบบย้อนกลับ (Backward Design) ย่อมอยู่ที่ความสามารถและความเชี่ยวชาญของครูแต่ละคนเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตนที่บอกความเป็นตัวตนของครูด้วย
ขั้นนี้ อาจมีการสอดแทรกกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น โครงงาน หรือการวิจัยย่อยชั้นเรียน การสร้างคุณธรรม การเยี่ยมบ้าน การสร้างรายได้ระหว่างเรียน การทำฐานข้อมูลและการดูแลนักเรียน ควบคู่กับบทเรียนไปด้วย จะทำให้การจัดการเรียนรู้ของครูมีความหมายและมีคุณค่ามากขึ้น
การออกแบบเป็นศิลปะที่สำคัญของความเป็นครูมืออาชีพ ศิลปะเกิดขึ้นได้เฉพาะตน งานศิลป์เป็นงานที่ใช้ความพึงพอใจในการตัดสิน การดูความแนวโน้มความสำเร็จของครูคือการดูศิลปะในการการออกแบบการจัดเรียนรู้ของครู
การกำกับการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ควรมีข้อตกลงในระดับสถานศึกษา เช่น กำหนดส่งวันพุธรับคืนวันศุกร์เพื่อนำไปเตรียมการสอนเป็นต้น ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาควรได้กำกับด้วยตนเองเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยง

ก้าวที่ 3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
บอกความเป็นนักบริหารจัดการชั้นครู

เป็นขั้นการแสดงความเป็นตัวตนของครู คือการจัดการเรียนรู้ของครูตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ครูได้แสดงบทบาทที่ได้ออกแบบไว้ เป็นการใช้องค์ความรู้ การใช้ทักษะผู้นำ การบริหารชั้นเรียน ทักษะการทางกาย การพูด การใช้สื่อ การตัดสินใจ การวัดและประเมินผลของครู
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นนี้คือ การบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ สิ่งควรบันทึกได้แก่
1) การตอบวัตถุประสงค์ทีละข้ออย่างครบถ้วน คือ ผลการจัดการเรียนรู้ตรงวัตถุประสงค์อย่างไรเท่าใด ต้องตอบว่าแต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร ด้วยวิธีใด จำนวนเท่าใด และมีค่าร้อยละเท่าใด(สถิติ)
2) การบันทึกบรรยากาศการเรียนรู้อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ความสนุกสนาน ความร่วมมือ เจตคติ พฤติกรรม สื่อ แบบวัดประเมิน เหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยเสริม ข้อขัดข้องข้อสังเกตต่าง ๆ ครูควรเก็บบันทึกภาพร่องรอยไว้อย่างครบถ้วน การบันทึกเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ครูจะเกิดทักษะและประสบการณ์ในการบันทึก เสมือนเป็นสมุดปูมบันทึกเหตุการณ์ประจำวันของชั้นเรียน เป็นการบันทึกที่สร้างคุณค่าต่อวิชาชีพครู

ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในการกำกับในฐานะผู้นิเทศ คือ การให้กำลังใจ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ควรเสริมแรงเชิงบวก ละเว้นการตำหนิ ขู่และกล่าวโทษ ส่งเสริมและช่วยเหลือให้ครูได้รับความสำเร็จ ระบบนิเทศภายใน (Internal Supervisory System) จึงมีความสำคัญที่ควรสร้าง ผู้ทำหน้าที่นิเทศที่มีคุณค่าที่สุดก็คือผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้น อาจมอบหมายให้มีผู้ช่วยแต่ต้องได้รับการยอมรับเพียงพอซึ่งไม่ควรมองข้าม


ก้าวที่ 4 การประเมินการสอนรายวิชา
บอกความเป็นนักวิจัยชั้นครู

เป็นขั้นตอนเมื่อสิ้นปีการศึกษา มีแนวทางดังนี้
1) การนำผลการบันทึกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ตั้งแต่แผนการจัดการเรียนรู้แรกจนถึงแผนสุดท้ายมาวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อตอบคำถามตามวัตถุประสงค์หน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) ที่ได้กำหนดไว้แล้วในก้าวที่ 1 หาคำตอบตามวัตถุประสงค์หน่วยการเรียนรู้ ว่าแต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร เท่าใดอย่างครบถ้วน มีปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะและการแก้ไขไว้อย่างไร เป็นการตอบคำถามการวิจัยรายวิชาและชั้นเรียน
2) นำเสนอเป็นรายงานการใช้หลักสูตรเป็นงานการวิจัย 5 บท เพราะคำตอบมีครบถ้วนแล้ว จะขาดเพียง บทที่ 2 ที่สามารถจัดทำเพิ่มได้ โรงเรียนมีครู 6 คน สามารถสร้างงานวิจัยได้ 6 ชิ้น ครูทุกคนทำทุกรายวิชา เพื่อผู้บริหารจะนำมาเป็นผลงานวิจัยสถาบันรวมสู่การพัฒนาหลักสูตรในปีการศึกษาต่อไป สู่ความก้าวหน้ายั่งยืนทางวิชาการของโรงเรียนมากขึ้นในแต่ละปี
งานวิจัย ถือเป็นผลงานสิ่งที่ทุกคนปรารถนาเพราะเป็นงานการวิจัยหลักสูตรสถานศึกษา ที่สร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าของครูต่อการพัฒนาหลักสูตร การขอรับวิทยฐานะและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ

สรุป การเดินด้วยจังหวะที่มั่นคง จะสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นกับครู 4 ด้าน คือ
1. มีหน่วยการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Syllabus)
2. มีแผนการจัดการการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Lesson Plan)
3. มีการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ (Effective Teaching)
4. มีการประเมินผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (Effective Assessment)

3. มิติสัมพันธ์ของห้องเรียนคุณภาพ (Quality Classroom) กับ 4 ก้าวคุณภาพ
ห้องเรียนคุณภาพ ได้กำหนดกรอบไว้ 5 ประการมีความสัมพันธ์กับแต่ละจังหวะก้าวเดินคุณภาพของครู คือ
3.1 การนำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียนคุณภาพ

ครูมีโอกาสได้รับการเร่งเร้า ส่งเสริม เพื่อกำหนดกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบในการบริหารจัดของครู ที่จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ เห็นศักยภาพของครูแต่ละคน สามารถสืบค้นจากแหล่งความรู้และมองเห็นแนวทางปรับปรุงต่อยอดความคิดได้ชัดเจน มีการปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอน สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

3.2 การออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน

สามารถวัดได้จากการดูก้าวที่ 1 และ 2 ของครู คือการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) และแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan) ที่เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรสถานศึกษา สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

3.3 การวิจัยในชั้นเรียน (CAR-Classroom Action Research)

การสอนและการบันทึกอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการจัดการเรียนรู้ และนำผลมาประมวลเมื่อสิ้นปีการศึกษาเป็นผลงานวิจัยชั้นเรียนที่มีคุณค่า ครูทุกคนมีผลงานวิจัยทุกรายวิชา สามารถใช้เป็นผลงานในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ตลอดจนการขอเพิ่มวิทยฐานะได้อย่างมีเกียรติ เพราะมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์และครบถ้วนแล้วที่ห้องเรียน ไม่มีครูทิ้งห้องเรียนเพื่อออกไปหาผลงานวิชาการนอกโรงเรียนให้เห็น
เป็นผลที่เกิดขึ้นในก้าวที่ 4 ครู เป็นก้าวของการสรุปองค์ความรู้ ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) เพื่อเผยแพร่และการนำไปต่อยอดต่อไป หลักสูตรสถานศึกษาได้รับการวิจัยและการพัฒนาเป็นกระบวนการที่มีความยั่งยืน

3.4 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน

อยู่ในทุกก้าวเดินของครูโดยเฉพาะอย่างยิ่งก้าวที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นก้าวของการแสวงหาความรู้และการสอน ได้แก่การใช้สื่อสารสนเทศที่กว้างขวางเพื่อการสืบค้นและการเรียนการสอนสู่ห้องเรียนสากล (Global Classroom) หลายอย่างครูสามารถเรียนรู้การออกแบบแนวทางได้จากอินเตอร์เน็ต เช่น การสอนที่ใช้พลังของเด็ก (Power Teaching) ที่มีความตื่นตัวสนุกสนานพัฒนาสมองและบุคลิกภาพเด็กได้ครบทุกส่วน และหลายอย่างเด็กสามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากต้นแบบในอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน เช่น การเล่นดนตรีประเภทต่าง ๆ ที่ครูเลือกแนะนำให้เด็กได้แม้ไม่มีความชำนาญ ทำให้สื่อใกล้ตัวครูและนักเรียนมากขึ้น ชุมชนการเรียนรู้กว้างออกจากห้องเรียนไปสู่สากลด้วยจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) การใช้สมุดปูมส่วนตัว (Blog) ที่มีบริการแก่สมาชิก เช่น www.gotoknow.org/ ; http://www.blogger.com/ เป็นต้น

3.5 การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline)

วินัยเชิงบวกมีความสัมพันธ์กับทุกก้าวของครู การสร้างฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลเพื่อศึกษา เช่น ระเบียนนักเรียน แฟ้มประวัติและผลงานนักเรียน มีข้อมูลสารสนเทศและเครือข่ายระบบดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง ดังนั้น การปฏิบัติต่อนักเรียนในเชิงบวกและการส่งเสริมวินัยให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน เช่น การสร้างและปฏิบัติตามกฎห้องเรียน (House Rules) การใช้โครงงาน กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอบปัญหาเชิงบวก ใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ จึงเป็นแนวทางสำคัญต่อการสร้างคุณภาพผู้เรียนได้ และผู้ที่เร่งเร้าส่งเสริมได้ดีที่สุดในสถานศึกษาก็คือผู้บริหารโรงเรียน การบริหารความเสี่ยงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่งสำหรับนักบริหารการเปลี่ยนแปลง


5. บทสรุป : 4 ก้าวคุณภาพครูชัยชนะของทุกฝ่าย (win-win solution)

1) เด็ก ได้รับการเรียนรู้ตามมาตรฐาน มีแบบแผน ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยง เรียนเก่ง เป็นคนดี มีความสุข
2) ครู ได้มีระบบการทำงานที่สอดคล้องกับวิชาชีพ ไม่ทิ้งชั้นเรียน มีความสุขกับการศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยวิธีการของตน สร้างผลงาน พอกพูนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นตามระยะเวลาในการทำงาน มีเกียรติได้รับการยอมรับในระดับมืออาชีพ
3) ผู้บริหาร มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจากผลงานการวิจัยของครูทุกคน และต่อยอดความสมบูรณ์ของหลักสูตรสถานศึกษาสู่ความก้าวหน้า มีบุคลากรที่มีคุณค่า แต่ละสถานศึกษาได้สร้างมีองค์ความรู้ที่หลากหลายตามบริบทที่มีอยู่
4) โรงเรียน กล้าประกาศตนเป็นโรงเรียนคุณภาพ เป็นสถาบันที่มีคุณค่าของชุมชน ได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือ
5) ชุมชนและผู้ปกครอง ได้สถานศึกษาของชุมชนที่มีคุณภาพในการบริหารจัดการ มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมั่นในครูและระบบการศึกษา 6) สำนักงานเขตพื้นที่ สามารถกำกับดูแลการจัดการศึกษาของสังกัดได้อย่างมีทิศทาง สามารถควบคุมระดับคุณภาพและมาตรฐานได้ ลดความเสี่ยงด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สถานศึกษามีความหลากหลายในแนวทางปฏิบัติ (Best Practices) เป็นองค์ความรู้สู่การแลกเปลี่ยนต่อยอดให้ยั่งยืนต่อไป

วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เก็บตกงานมหกรรมศิลปหัตถรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ2551










กระป๋องเบียร์ ผ่านการดื่ม















จอกพลาสติก ผ่านวิธีคิด



ผลงาน ชช ๒ ศรีสะเกษ ๔







แรมโบ้...ก็มา








วงดนตรีพื้นเมือง ร.ร.สว่างแดนดิน ชนะเลิศ ...เยี่ยม...




ถั่วงอกคอนโด...ทำเงิน

...มิ้ม...ผลงานนักเรียน
...ขยายภาพดูรายละเอียด






ร.ร.หนองแวง...สกล 2 ...ส่ง















เมื่อเลขา สพฐ.(คุณหญิงกษมาฯ) สนุกกับ ส้มตำอินเตอร์ ในพิธีเปิดงานวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๑








ส.ค.ส ๒๕๕๒

ขอให้ทุกท่านที่เยี่ยมชม...
สุขสดชื่นสมดั่งตั้งใจ
สุขสดใสทุกวันคืน
สุขสดชื่นตลอดไป

ตลอดปีใหม่ ๕๒ เทอญ

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

สายธารปัญญาครูภาษาไทยช่วงชั้น 1

การอบรมปฏิบัติการการส่งเสริมการอ่านออกเขียนคล่องด้วยการจัดการความรู้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2551 ณ รพ.พังโคน

ตารางวิเคราะห์สายธารปัญญาเสร็จแล้วพร้อมเผยแพร่
ครูและผู้สนใจต้องการโปรดแจ้งความประสงค์ไปที่

w_mansathit@hotmail.com

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การสร้างชุมชนนักปฏิบัติ

ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Pratice - CoP) คือที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน
ทำอย่างไร ที่จะให้คนในกลุ่มงานตนเองมีโอกาสได้คุยกัน เอาความรู้มาอวดกัน แลกเปลี่ยนกัน ในภาวะที่เวลาแต่ละคนก็เป็นสิ่งมีค่า และมีจำกัด ทุกคนต้องบริหารเวลาด้วยกัน คือ สำหรับนอน ๘ ชั่วโมง เวลาทำงาน ๘ ชั่วโมง และพักผ่อน ๘ ชั่วโมงเท่ากัน การบริการเวลาจึงมีความจำเป็น
แล้วจะมีวิธีการใดที่จะให้โอกาสในการพบปะของคนในองค์กร
การใช้บล๊อกในอินเตอร์เน็ต เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แหล่งที่สามารถสร้างบล๊อกได้ ได้แก่
www.blogger.com เหมาะสำหรับกลุ่มขนาดเล็ก ๆ ได้เข้าใช้สะดวก
www.hotmail.com เหมาะสำหรับส่วนบุคคล
www.gotoknow.org เหมาะสำหรับการเข้าสมาชิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ระดับประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ผู้ดูแลระบบ

ผู้ดูแลระบบบล็อกนี้คือ สมาชิกกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล ทุกคน
สามารถเข้าดูแล ปรับเปลี่ยน แก้ไข เขียนบทความ แก้ไขบทความ ได้สะดวก
โดยดำเนินการดังนี้

เลือกเข้าระบบ จากเมนู ป้อนข้อมูล ดังนี้

ID ผู้ใช้ คือ supersakon2@hotmail.com (ไม่ต้องขีดเส้นใต้)
รหัสผ่าน คือ 042722322 (เป็นเบอร์โทร.สพท)

อีเมล์ของผู้ดูแลระบบ
ที่อยู่รับจดหมาย ฝากส่งข้อมูลเช่น ภาพ แฟ้มงาน หรือจากบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ดูแล หรือส่งให้ตนเอง คือ

ID ผู้ใช้ คือ supersakon2@hotmail.com (ไม่ต้องขีดเส้นใต้)
รหัสผ่าน คือ 722322 (เป็นเบอร์โทร.สพท ไม่มี 042 นำ)

จะแสดงไว้สักระยะหนึ่งเพื่อให้จำได้ใช้คล่องและจะไปเก็บไว้ที่อีเมล์ต่อไป

กระดานข่าวอีเล็คทรอนิค

เมื่อการทำงานเกิดปัญหาด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสื่อสารที่ต้องใช้เป็นประจำ เนื่องจาก

1. ต่างคนต่างทำงานตนเอง ไม่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
2. ความรู้ที่มีอยู่ขาดวิธีการที่เหมาะสมและสื่อในการเผยแพร่
3. เก็บความรู้ไว้ก็ไม่รุ้จะมีใครมาของอ่าน จะเป็นความรู้ที่ไม่ได้ถูกนำไปต่อยอดไม่เกิดประโยชน์


วิธีการบันทึกลงบล็อกจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถตอบปัญหาข้างต้นได้
เมื่อบล็อกเป็นทางเลือก

1. เป็นที่ที่ทุกคนเช้าถึงง่าย
2. เผยแพร่ได้เร็ว
3. แลกเปลี่ยนได้ไม่จำกัดเวลา และสถานที่
4. ทันสมัย ทันใจ ทันใช้